ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ค้นหา
สมาชิก
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
My Community
>
เรื่องข่าวสารจอมทองบ้านเฮา
>
เรื่องน่ารู้เประเพณีวัฒนธรรมของอำเภอจอมทอง
>
น้ำปู๋แม่แจ่ม ผลิตภัณฑ์จากผญาปัญญาการกำจัดศัตรูพืชถึงวิถีคิดค้นการกินของฅนล้านนา
หน้า: [
1
]
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: น้ำปู๋แม่แจ่ม ผลิตภัณฑ์จากผญาปัญญาการกำจัดศัตรูพืชถึงวิถีคิดค้นการกินของฅนล้านนา (อ่าน 7089 ครั้ง)
baojomtong
บุคคลทั่วไป
น้ำปู๋แม่แจ่ม ผลิตภัณฑ์จากผญาปัญญาการกำจัดศัตรูพืชถึงวิถีคิดค้นการกินของฅนล้านนา
«
เมื่อ:
ตุลาคม 25, 2016, 02:06:34 pm »
น้ำปู๋แม่แจ่ม… ผลิตภัณฑ์แปรรูปเครื่องชูรสอาหาร
จากผญาปัญญาการกำจัดศัตรูพืช ถึง วิถีคิดค้นการกินของฅนล้านนา
คราใดก็ตามที่หยดหมึกกับน้ำปู ไหลไปบรรจบกันที่เพิงหมาแหงนของ อ้ายน้อย “อินตา” กลางสี่แยกในบางมุมของหมู่บ้านที่โป่งแยง (แม่ริม) อันเป็นชุมนุมของคอสิงห์ทะเลทราย (เหล้าโรง) หรือสมิงดง (ต้มเอง) ประเภทพรุ่งนี้จ่าย แล้วหายไปเจ็ดวัน....!
ครานั้น... จะเห็น ไอ้ ปั๋น น้ำปู๋... คาวบอยน้ำปู๋ บุรุษสมมุติ ที่ถูกเสกสร้างขึ้นจากปลายปากกาอันฉกาจด้วยจินตนาการของ ’รงค์ วงศ์สวรรค์ โลดเเล่นไปอย่างมีชีวิตชีวา...
ไม่ว่าจะเป็น (เหลู้าบ) ลาบ หลู้ เหล้า เพื่อนสนิทในยามแล้งเข็ญของผู้พันเสริฐ (ประเสริฐ จันดำ-ผู้พันภูพาน-นักเขียนและกวี ผู้ล่วงลับ) หรือมะขามฝักอ่อนควัด, กว๊าย (จิ้มคด,จิ้มตวัด, จิ้มแล้วหมุนเป็นวงกว้าง) น้ำปู๋ กับแกล้มตามอัธยาศัยอันเป็นเสน่ห์ของร้าน...
ในมโนนึก... ภาพของไอ้ปั๋น อันเต็มมาดของเพลย์บอยท้องถิ่น กางเกงยีนส์ เสื้อแจ็คเก็ต หมวกปีกกว้าง และรองเท้าผ้าใบขาวคร่ำ กับย่างก้าวที่อาจเถื่อนบนก๋างกองแดง (กลางถนนลูกรัง) ยามตะวันคาบแก้ว บุคลิกย่อมผาดถึง “ชาร์ล บรอนด์สั้น” หรือไม่ก็เดอะ “แจ็ค พาร์แลนซ์” (สมัยเป็นพระเอก) นั่นเทียว...
“เหมือนเดิม...?” ในความหมายของมันคือ เหล้าสองตอง ไอ้ปั๋นสั่งอย่างถนัด ก่อนหย่อนยีนส์ลงบนแป้นม้าปีกไม้ที่แจ่งมุมอย่างเป็นยุทธศาสตร์(หันหน้าออกเห็นรอบทิศทาง) นี่คือภาพชีวิตตัวละครหลัง (แก้วบรั่นดี) กรอบแว่นของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ปรากฏรูปธรรมให้เห็นได้ทั่วไปในชนบท หรือบางตรอกซอยของกรุงเทพ ฯลฯ... ที่มีตำบักหุ่งรสแซบอยู่บนโต๊ะ...
บนถนนของความบังเอิญ และในชีวิตจริง เราได้พบกับ “เป็ง น้ำปู๋” อันเป็นฉายาของ “ป้าแอ๊ด” ประธานกลุ่มแม่บ้าน ที่บ้านเลขที่ 353 หมู่ 12 ต. ช่างเคิ่ง อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ นามของ “เป็ง น้ำปู๋” นั้นไม่ธรรมดา เพราะแกมีอาชีพทำน้ำปูขายเป็นงานหลักจนเป็นที่รู้กันทั่ว การไร่การนาเป็นเรี่องของสามีและลูกเขยลูกสะใภ้ วันดีคืนดีจากต่างถิ่นไปถามหาคนชื่อ “เป็ง” เฉย เฉย แถวนั้นคำตอบจะกลายเป็นคำถามทันทีว่า เป็งไหน...? เพราะคนชื่อเป็ง ปั๋น จั๋น ตา ทั้งผู้หญิงผู้ชาย มีเยอะออกในหมู่บ้านนอกทั่วไป แต่ถ้าบอกแซ่สร้อยห้อยนาม หรือฉายาแล้วจะร้องอ๋อ...อาสาพาส่งถึงประตูบ้านเลยทีเดียว...
ประการสำคัญ สามีของป้าแอ๊ดหรือ “เป็ง น้ำปู๋” ยังเป็นทั้งอดีตผู้ใหญ่บ้านที่เคร่งการวัดในระดับ”ปู่จ๋าน” (อาจารย์วัด-มัคทายก) และปัจจุบันเป็นเทศมนตรีฝ่ายโยธาฯ เสียด้วย ดีนะที่ไม่อยู่ฝ่ายสาธารณสุข หาไม่แล้วคงต้องมีเรื่องถกเถียงกันเช้า – ค่ำ เพราะกลิ่นน้ำปูนี่แหละจะทำเอาชาวบ้านร้องเรียน ด้วยกระบวนการการทำน้ำปู จะส่งกลิ่นทะแม่งตลอดวันชนิดข้ามบ้านข้ามถนนเลยเชียวแหละ แต่ก็ยังดีที่โดยทั่วไปชาวแม่แจ่มเกือบทั้งอำเภอนิยมทำน้ำปูกินกันมาแต่เนิ่นแต่นาน บางหมู่บ้านผลิตขายเป็นอาชีพ อย่างบ้านกองกาน ตำบลแม่ศึก ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอเคยส่งเข้าประกวดการแข่งขันระดับจังหวัด ระดับภาค ชนะของลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน กระทั่งอุตรดิตถ์ ตาก และสุโขทัย จนได้รับรางวัล ปู๋หน้อยหนีบมือ มาแล้ว เพราะน้ำปูจากจังหวัดดังกล่าวใส่ใบฝรั่ง (เพื่อแก้ท้องเสีย) ทำให้สีออกดำหม่น ไม่อร่อย และเก็บได้ไม่นาน สำหรับชาวแม่แจ่มแล้ว อวลกลิ่นของน้ำปูดูจะเป็นเรื่องชินจมูกเป็นปกติธรรมดาไป…
ในวันที่เรา (ผู้เขียนกับถนอม ไชยวงษ์แก้ว-นักเขียน-กวี) ด้นไปที่บ้านเลขที่ดังกล่าว บรรยากาศคลุ้งคาวไปด้วยกลิ่นสาบดิบของปู และความทะแม่งเหม็นดังว่า….
“น้องนางบ้านนา เจ้าจากเคหาส์สู่ฟ้าบางกอก ฯ ลฯ...” ถนอมเอื้อนเพลงที่เข้ากับบรรยากาศเป็นการให้เสียงล่วงหน้า เพื่อให้คุณป้าหันมามองจะปรับตัวตั้งรับได้ทันเพราะคนมีอายุขี้ตระหนก ยิ่งเป็นคนแปลกถิ่นด้วยแล้ว…
“หวัดดีครับป้า ผมมาขอคุยเรื่องน้ำปูด้วย” เราไม่ใช้คำว่าสัมภาษณ์เพราะเกรงว่าจะเกิดช่องว่างทางความรู้สึกของคนต่างวัย ป้าเป็งออกอาการงงอยู่นิด-นิด ยกมือไหว้ตอบอย่างหลวม-หลวม และเก้กัง แถมมองถนอมด้วยสายตาที่แปลกแปร่ง….
“เชิญเจ้า... ต่อน โว้ย... แม่โขงแบน โซดาขวด เอ๊ย! น้ำเย็นมาเร็ว” ป้าเป็งตื่นเต้นตะโกนหลานสาวเอาน้ำมาสู่แขก ชะรอยที่มีสามีเป็นถึงเทศมนตรีและตัวแกเองก็เป็นประธานกลุ่มสตรีแม่บ้าน แขกเหรื่อพรรคพวกคงมาสังสันทน์ที่บ้านบ่อย คุณป้าถึงได้เผลอหาเหล้าด้วยความคล่องเคย....
“ทำมานานหรือยังครับ…?” ถนอมเสยเปียยิงคำถามเพราะต้องรีบกลับไปอ้อน “แพร จารุฯ” ที่เลี้ยงลูก เอ๊ย...! เขียนหนังสืออยู่กับบ้าน(เรือนหอหลังเอี่ยม)ที่ทุ่งเสี้ยว ดูเหมือนป้าแกจะรำคาญนัยน์ตาเสียเต็มประดากับเปียยาวของถนอม...!
“โอ้ย... ก็เลี้ยงลูกมาสามคนจนออกหอออกเรือนไปหมดแล้วแหละ” ป้าเป็งตอบเฉเฉียงแบบให้คิดเอาเอง (ก็แล้วกัลล์...)
“ทำมากอย่างนี้ ส่งขายที่ไหนครับ…?” ถนอมสงกา
“ไม่ทันได้ส่งหรอก ส่วนมากสั่งจองมารับเอง ทำแทบไม่ทัน ก็อย่างที่เห็นนี่แหละ” ป้าเป็งถือโอกาสยืด…
เก๋งสีเลือดนกในราคาที่ระดับ ซี.7... ไม่กล้าแตะ แล่นเข้าลานบ้านอย่างนิ่มช้า โดยไม่ลงรถคนขับหมุนกระจกเอิ้นสั่ง
“ป้า... ขอกระปุกใหญ่เน่อเจ้า จะเอาไปฝากผู้ใหญ่...”
ป้าเป็งกุลีกุจอจัดการตามนั้น แล้วเก๋งคันงามก็ฉกหัวออกจากประตูบ้านไป โดยไม่สนใจว่าจะมีใครแอบนินทาไล่หลัง…
“อื้อ ฮือ เชื่อเลย...” ถนอมครางคำพูดพร้อมหัวเราะครื้นเครง ทำเอาป้าเป็งครึ้มอกครึ้มใจไปด้วย
“โธ่เอ๊ย...! คุณนายท่านนายกฯ จะกินเองนะไม่ว่า ทำเป็นอาย ก็น้ำปู๋นี่แหละที่อี่เป็งส่งอี่ตุ๊...ไปเป๋นปินยาตี” ป้าเป็งออกสำเนียงท้องถิ่นเต็มที่ ขณะตบอกพร่ำประชด แล้วขอตัวไปเคี่ยวคนน้ำสีหม่นดำในภาชนะหม้อดินขนาดคนเดียวยกไม่ไหว…
“กลัวชาวบ้านเรียกคุณนายน้ำปู๋มั๊ง…?” ถนอมเสริมสอดอย่างถูกใจจนป้าเป็งหัวเราะ เฮอะ... เหอ... รักษาลีลาแบบฉบับคนล้านนาบ่ะเก่า (โบราณ) ได้อย่างแนบแน่น...
ตำนานแห่งน้ำปู…จากสาวท้องนาสู่ดาราภัตตาคาร
น้ำปู... ของคู่ฅนเมือง คำเมืองอยู่ไหนน้ำปูเกิดนั่น...เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นส่วนประกอบในการชูรสอาหารให้อร่อยยิ่งขึ้น ตามวิถีการกินหนึ่งของคนล้านนา เป็นภูมิปัญญาที่มีความเป็นมาอันเกิดจากสมัยโบราณ ไม่มียากำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะปู เป็นศัตรูตัวสำคัญของต้นข้าวในฤดูทำนาพอปักกล้าเสร็จ ประชากรปูที่กำลังเริ่มเจริญพันธุ์เจริญวัย จะพากันออกจากรูตามคันนามากัดกินต้นข้าวกล้าทำให้ได้รับความเสียหายเดือดร้อนไปทั่ว...
ว่ากันว่าสมัยเจ้าชีวิต “อ้าว” หรือเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 (2399 - 2413) ได้แจ้งกุศโลบายให้ราษฎรแข่งขันกันจับปูโดยมีการตกรางวัล เป็นที่รู้กันในสมัยนั้นถ้าเจ้าชีวิตหลุดคำดุว่า อ้าว...! อันเป็นคำประกาศิตออกมาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นหมายถึงหัวอยู่ที่ตัวอยู่ที่ ราษฎรจึงพากันเกรงกลัวและปฏิบัติตาม ครั้นจับปูได้มากเข้าจนกินไม่ทัน จะทิ้งก็เสียดายหรือกลัวจะเน่าเหม็นคลุ้งบ้าน จึงคิดทำลายด้วยการกินและเก็บรักษาขึ้น นำมาแปรรูปทำเป็นน้ำปูเก็บไว้กินได้ตลอดปีหรือนานกว่านั้นแล้วแต่วิธีการของคนทำ ถ้าเคี่ยวนานและกรองเอาแต่น้ำจริง จริง ที่ไม่มีกากเยื่อปนก็จะมีคุณภาพ เรียกว่ามีอายุการกินที่ไม่ต้องพึ่งพะวงกับกฎ อย. หรือตามกำหนดของ มอก. แต่อย่างใด…?!
ช่วงเวลาที่กินน้ำปูอร่อยที่สุด คือช่วงฤดูฝนหรือฤดูทำนาอันเป็นต้นฤดูการทำน้ำปู เพราะมีอาหารและเครื่องกับที่เหมาะสมคู่ควรกันเช่น หน่อไม้ป่าต้มซึ่งธรรมชาติกำหนดให้มาคู่กันได้อย่างเหมาะเหม็งดีแท้ หากไปเที่ยวแถวจอมทอง – แม่แจ่ม บ่อยครั้งมักจะได้ยินคำอู้เปรียบเปรย เวลาหนุ่มสาวคลาสสิคกันถ้าถูกถามว่ากินข้าวกับอะไร เธอและเขามักจะอำว่า “เทพธิดาดอยกับน้องนางบ้านนา” อันเป็นที่รู้กันว่าเทพธิดาดอยก็คือหน่อไม้ต้มรสหวานสมถะ ส่วนน้องนางบ้านนาก็หมายถึงพริกน้ำปู ถ้าหมดฤดูหน่อไม้ก็ยังพอมีคู่ขาที่ไปกันได้ไม่เกิดรสชาติที่ขัดแย้งกันเช่น แตงกวา แตงไทย (สดกรอบ) ผักแว่น มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ก็ไม่เลว มะลิดไม้ (เพกา, ลิ้นฟ้า) พระเอกในวงเล็บของเราดุเดือดหน่อย โดยนำมาลวกไฟก่อนพอหอมกลิ่นไหม้รสเผ็ดนิ่มขมหวานร้อนแรง ถ้าเจอนางเอก (พริกน้ำปู) ประเภทครบเครื่อง คือพริกกะเหรี่ยงน้ำปูรสเด็ดใส่ตะไคร้,กระเทียมดิบหยอดน้ำมะนาว หรือใส่ใบอี่หลึง(มีกลิ่นและใบคล้ายใบก้อมก้อ - แมงลัก -ไทยใหญ่เรียกอิมคิ้มขาว- รสจัดจ้านเป็นดาราก็ชนิด ขวัญภิรมย์ หลิน ว่างั้นเถอะ... สะใจคุณผู้ชมก็แล้วกัน เข้าตำรา แกงก็เผ็ด ข้าวก็ร้อน เมียขี้แซ่ม(บ่น) แถมพ่อตาดุ งี้... ไม่จืดจริง จริง...!!
ถ้านำไประกอบหรือปรุงอาหารว่างอย่างตำส้มโอ (ไม่รู้ลูก... ช่างกินคนไหนที่ไปเอาน้ำปูกับส้มโอมาเป็นชู้กัน ช่างได้ช่างดีเสียจริง...!) แซ่บ ถึงใจพระเดชพระคุณซะไม่มี ขนาดขึ้นภัตตาคารมานานแล้วนะเนี่ย พวกคุณหญิงคุณนายนั่นแหละตัวดีเวลาจะสั่งกินทำท่าเคอะเขินกระเมี้ยนอาย ตอนจะกลับแอบสั่งพิเศษถุงใหญ่ใส่กระเป๋ายี่ห้อดี หิ้วกลับบ้านหน้าเฉย...!
ตำกระท้อนก็ไม่เลว ตำรับนี้ขึ้นอยู่กับว่าชอบใครชอบมัน แต่ถ้าเป็นแกง จี๋ (หน่ออ่อนต้นฤดู) เทพธิดาดอย รุ่นสดจากกอ กลิ่นขื่นเขียวขนาดใช้สากทุบพอบุบแตกจะให้รสหวานควรหมกไฟเสียก่อน ทุบให้น่วมนิ่มแล้วแกะเปลือกโยนใส่หม้อกำลังร้อน ใส่ปลาทูเค็ม ก่อนปลดหยอดแม่นางลงไป มากหรือน้อยแล้วแต่ปริมาณน้ำแกง โรยใบก้อมก้อ ชะพลู ลงไปเพิ่มความหอมฉุน ชุ่มหวานลำคอ อบไอไว้สักพัก ค่อยเปิดฝาหม้อ ตักใส่ถ้วยตราไก่รุ่นบ่ะเก่า (รุ่นบ่ะเก่าเท่านั้น) ซดตอนกำลังร้อน... เดี๋ยวอย่าเพิ่ง...ก่อนแตะช้อน เหลียวซ้ายแลขวาตอนเมียเผลอ เห็นสมิงดงตั้งอยู่ข้างฝาครึ่งขวด ล่อสักสองเป๊ก ตามด้วยน้ำแกงขุ่นข้น คุณเอ๋ย...รับรองไม่แพ้คู่ชกอย่างไมค์ ไทร์สั้น กับโฮลิฟิลล์ หรือไม่ก็ ติ๋ม การบิน กับ ชวน เฉียดผิวไปโน่นเลย ต่อให้หม่อมถนัดศรีจอมชิม หรือสุนทรภู่กลับชาติมาเกิดยังบรรยายรสชาติไม่ถูกก็แล้วกัน นี่ขนาดผู้เขียนกินอยู่เกือบทุกวัน เขียนไปเขียนมายังน้ำลายหกเสียเฉาะใหญ่เลย จริง จริง นะเออ...
กระบวนการและต้นทุนการผลิต
ขั้นตอนและวิธีการทำ หรือกระบวนการผลิตน้ำปู ถึงไม่ใช่เรื่องยากสลับซับซ้อนอะไร แต่ต้องใช้เวลาใช้ความอดทนพอสมควร คือยิ่งใช้เวลาเคี่ยวนานก็ยิ่งหอมและมีคุณภาพ ทั้งนั้นทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณทีทำ สรุปแล้วก็เคี่ยวกันตั้งแต่เช้ามืดยันหัวค่ำ...
นำปูนามาล้างให้สะอาด แล้วตำในครกมองหรือครกกระเดื่องเพราะมีขนาดใหญ่รองรับได้มาก ปัจจุบันค่อนข้างเขียม เพราะไม่มีผู้ใดคิดรักษาหรืออนุรักษ์ไว้ เห็นว่าเป็นของเก่าคร่ำครึจึงปล่อยให้แดดฝนทำลาย จนผุพังไปตามกาลเวลา บางส่วนถูกขายให้กับพ่อค้าของเก่าหรือนักนิยมของเก่าไป เอาว่าเป็นว่าตำกับครกหินก็แล้วกัน(เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ผ่านความลึกซึ้งทางวัฒนธรรม และภูมปัญญาเท่านั้นเอง) แต่เดี๋ยวนี้มีพัฒนาการขึ้นอีกตามวิทยาการสมัยใหม่ คือถ้าตำมากทำมากก็ใช้เครื่องบดหรือครกไฟฟ้า(รงค์ วงษ์สวรรค์) วิธีนี้จะได้น้ำปูไม่ค่อยมีคุณภาพนัก เพราะบดได้ละเอียด ทำให้เศษกากไขมันและเนื้อปูปนลงไปทำให้น้ำข้นเหนียวเร็วเคี่ยวไม่นานก็สุก รสน้ำปูค่อนข้างสาบคาวกินไม่อร่อยสีไม่ดำ วิธีนี้จะทำขายมากกว่าเพราะได้ปริมาณและใช้เวลาไม่นานจะกรองเพียงสอง – สามเที่ยวเท่านั้น แต่ถ้าทำกินเองจะใช้วิธีตำด้วยมือกรองหลายหนเอาน้ำแท้ แท้ วิธีนี้จะได้น้าปูชั้นกะทิ ถ้าเหลือค้างปีก็นำไปเคี่ยวปนกับน้ำปูฤดูใหม่ได้ไม่เสียหายแต่ประการใด...
อีกด้านหนึ่งของการพัฒนา เป็นกลยุทธ์การเพิ่มรสชาติ คือทำพริกน้ำปูสูตรสำเร็จรูปเพิ่มส่วนผสมโดยใส่พริกขี้หนูพอไม่ให้เผ็ดเกินกับกระเทียมตะไคร้ตำโขลกเข้าด้วยกัน วิธีนี้สามารถตักใส่ถ้วยกินได้ทันทีไม่ต้องเสียเวลาตำน้ำพริก (สำหรับคนไม่ชอบเผ็ดแต่ชอบน้ำปู) ถ้าใส่แมงดาลงไปด้วยยิ่งเด็ดขาด เป็นน้ำปูกลิ่นแมงดา สูตรนี้ไม่รู้ว่าทำกันหรือเปล่าและใส่ในขั้นตอนไหนก็ยังไม่เคยเห็น แต่ผู้เขียนฟลุ๊คได้มาหนึ่งกระป๋องกะปิ ในจำนวนหลายกระป๋อง (กลายเป็นผู้ได้สูตรน้ำปูใหม่นำมาเล่าให้นักบริโภคน้ำปูได้น้ำลายเฉาะกันนี่แหละ) ที่ไปซื้อมาจากตลาดตามบัญชาของ โสภา กิติชัยวรรณ ผู้ช่วยเกษตรอำเภอแม่แจ่ม(ตอนนี้จะขึ้นชั้นเกษตรอำเภอเสียแล้วเพื่อนเรา) เพื่อทำน้ำพริกน้ำปูมื้อเที่ยง(ฝีมือผู้เขียน) ต้อนรับคุณนายรองอธิบดีกรม ที่ดัดจริตชอบน้ำปูกับเขาเหมือนกัน...!
หลังจากโขลกตำจนได้ที่แล้ว ตักใส่ผ้าห่อหรือกระชอนแล้วบีบคั้นเอาน้ำสี่-ห้าเที่ยว ใส่ภาชนะปิดฝาไว้หนึ่งคืนเพื่อให้ได้กลิ่นสาบอันเป็นหัวใจของการทำน้ำปู รุ่งเช้าเปลี่ยนใส่ภาชนะหม้อดินตั้งบนเตาก่อไฟให้แรง และเฝ้าเคี่ยวคนอย่างสม่ำเสมอ ประมาณสี่-ห้า ชั่วโมงน้ำจะเริ่มข้น กลิ่นเหม็นจะเริ่มเลือนเป็นกลิ่นสาบทะแม่ง เมื่อข้นจนเหนียวแล้วใส่เกลือลงไปถอนไฟให้อ่อน ขั้นตอนนี้ต้องเพียรคนไม่เช่นนั้นจะติดหม้อสีก็จะไม่ดำน่ากิน เมื่อเหนียวพอดีแล้วยกลงจากเตา เย็นแล้วจะเหนียวกระด้างตัว หอมน่ากินระหว่างเริ่มต้มเคี่ยวจะมีกลิ่นสาบตลอดวันสำหรับคนบ่แม่นลม ภาษาเหนือบอกว่าผิดลมเจ้า...หรือไม่ถูกลมจะหนึบหัวและหนักหนังตา…
วัตถุดิบคือปูในพื้นที่ ก.ก. ละ 20 บาท ปัจจุบันในท้องที่อำเภอแม่แจ่มเขียมลง เพราะวิทยาการสมัยใหม่ ที่มีการนำสารหรือยามาใช้ในการกำจัดศัตรูพืช หลายปีที่ผ่านมามีพ่อค้าหัวใสไปซื้อปูจากอำเภอแม่สะเรียงมาขาย ก.ก. ละ 20 บาทเช่นกัน เพราะแม่สะเรียงไม่นิยมใช้ยาหรือสารฆ่าปูจึงเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยปูและตัวโตกว่าคือมีอายุจึงมีไขมันและเนื้อมาก สีของนำปูจากแม่สะเรียงจึงไม่ดำไม่น่า เจี๊ยะ เหมือนปูแม่แจ่ม ซึ่งอายุน้อยกว่าตัวเล็กตำด้วยมือง่าย เหตุเพราะต้องรีบระดมจับตอนที่กำลังเจริญพันธุ์เจริญฝูงกันการแพร่ระบาดจึงได้ปูหนุ่มกระดองอ่อน สำเร็จรูปแล้วสนนราคา ก.ก.ละ 350 บาทแต่ถ้าจะให้เด็ดขาดจริง จริง ต้องเป็นปูรุ่นกลาง (ขี้ปูไม่มาก)คือรุ่นข้าวแตกรวง ถ้ารุ่นนี้ ก.ก.ละ 500 บาท.เห็นชื่อชั้นแล้วอาจบอกว่าแพงกะอีแค่น้ำปู อาหารชั้นต่ำ แต่หากได้ลิ้มลองรสชาติและเห็นกระบวนการผลิตแล้ว ดูจะถูกไปด้วยซ้ำ เนื่องเพราะปูน้อยของแม่แจ่ม 5 ก.ก. จะผลิตแปรเป็นน้ำปูได้ประมาณ 7 ขีดเท่านั้น ปูใหญ่จากแม่สะเรียงจะได้ประมาณ 1 ก.ก. ก็อย่างว่านั่นแหละสีจะไม่ดำมีกากเยื่อและเนื้อปนเหมือนหลายจังหวัดที่กล่าวมาแล้ว หรือของเชียงใหม่ด้วยกันเช่น สะเมิงกับสารภีที่ใส่ใบฝรั่งลงไปทำให้รักษาได้ไม่นาน สีไม่ดำไม่อร่อยเท่าที่ควร...
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็สุดแต่นักนิยมจะเลือกบริโภค อย่างไรเสียก็ยังดีกว่าการทำบุญเอาหน้าใส่ซองผ้าป่า 50 บาท ต่อหน้าผู้ฅนเพื่อสร้างภาพ แล้วมานั่งเสียดายภายหลัง...ฅนอะหญังจาใดเน๊าะ...?!
ฤทธิพงศ์ ตันสุหัช อธิการบดีศูนย์การเรียนรู้อิสระ ไร่ “ เวียงภูทอง”
สถาบัน “ ผญาจาวบ้าน...ผลิตภัณฑ์กำกึ๊ดฅนบ่ะเก่า”
ส.อบต. หมู่ 6 ข่วงเปา
ถ. สายน้ำตกแม่เตี๊ยะ หมู่ 6 ต .ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 50160
13203253331320325589l.jpg
(90.52 KB, 800x600 - ดู 1330 ครั้ง.)
836_1.jpg
(62.7 KB, 500x375 - ดู 1161 ครั้ง.)
numboo.jpg
(93.96 KB, 450x338 - ดู 1366 ครั้ง.)
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 25, 2016, 02:09:25 pm โดย baojomtong
»
บันทึกการเข้า
หน้า: [
1
]
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
เรื่องข่าวสารจอมทองบ้านเฮา
-----------------------------
=> ข่าวสารจอมทองบ้านเฮา
=> เรื่องน่ารู้เประเพณีวัฒนธรรมของอำเภอจอมทอง
=> บอร์ดใหม่
Powered by SMF 1.1.17
|
SMF © 2011, Simple Machines
|
BlueSea
Theme By
[S.W.T]
กำลังโหลด...